Monday, September 27, 2010

5 สมุนไพรพื้นบ้านช่วยลดความดัน

5 สมุนไพรพื้นบ้านช่วยลดความดัน
เขียนโดย Administrator
วันพุธที่ 12 ธันวาคม 2007 เวลา 02:49 น.
ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวกำลังเป็นผู้หนึ่งที่ต้องเผชิญภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ คุณรู้ไหมว่า สมุนไพรพื้นบ้านของไทยก็มีสรรพคุณลดความดันโลหิตสูงได้ดีไม่แพ้ยาของต่างชาติเช่นกัน เกร็ดสุขภาพฉบับนี้นำ 5 สมุนไพรไทยที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาแนะนำให้ทราบกันค่ะ

•กระเทียม ซอยกระเทียมสดประมาณครึ่งช้อนชา กินพร้อมอาหารวันละ 2-3 ครั้งหรือจะใช้วิธีเคี้ยวกระเทียมสดๆ ก็ได้ อย่ากินตอนท้องว่าง ฤทธิ์ร้อนของกระเทียมจะทำให้แสบกระเพาะได้
•ขึ้นฉ่าย เลือกต้นสดมาตำ คั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือใช้ต้นสด 1-2 กำมือตำให้ละเอียดต้มกับน้ำ แล้วกรองเอากากออก ใช้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะก่อนอาหาร หรือกินเป็นผักสดผสมในอาหารก็ได้
•กาฝากมะม่วง กาฝากเป็นไม้พุ่มปรสิตขึ้นบนกิ่งไม้ใหญ่ๆ ในตำราไทยใช้กาฝากของต้นมะม่วง นำมาตากแห้งต้มน้ำดื่มต่างน้ำชาหรือตากแห้งคั่วแล้วชงดื่ม ในบางท้องถิ่นแนะให้ใช้กาฝากสดนำใบและกิ่ง 1 กำมือต้มกับน้ำดื่ม
•กระเจี๊ยบแดง ใช้กลีบเลี้ยงแห้ง ต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนกินเป็นชากระเจี๊ยบ ช่วยลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอลได้ แก้นิ่ว และลดไข้
•บัวบก ในตำรายาไทยทั่วไปใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน แต่มีตำรายาพื้นบ้านที่นำมาใช้ลดความดันโลหิตสูง โดยใช้ต้นสด 1 ? 2 กำมือ ต้มกับน้ำดื่มได้
ยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่เราใช้ปรุงอาหารเป็นประจำและมีสรรพคุณช่วยลดความดันได้ เช่น ขิง ขี้เหล็ก ผักชี ผักชีฝรั่ง มะขาม แมงลัก เป็นต้น


ที่มา : ข้อมูลจากเวปไซต์ชีวจิต

สมุนไพรไทย รักษา หวัด

"...สมุนไพรไทย 3 ชนิด ที่สามารถป้องกันและรักษาไข้หวัด 2009 ได้ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขิงและกระเทียม

ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณ 4 ประการ เป็นสมุนไพรที่สามารถระงับการติดเชื้อหรือระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้

แก้ไข้ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด 2009

ระงับอาการอักเสบ พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี

แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ

เป็นยาขมเจริญอาหาร

ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ

สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)

สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide)

14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)

วิธีและปริมาณที่ใช้

1. ถ้าใช้แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน

ใช้ใบและกิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2

ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ

2. ถ้าใช้แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้..............

ฟ้าทะลายโจร” สยบหวัด 2009

ฟ้าทะลายโจร” สยบหวัด 2009

“กินร้อน - ช้อนกลาง - ล้างมือ” ยังไม่พอที่จะปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจากไข้หวัด 2009 แพทย์แผนไทยแนะนำให้กินสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย
นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ในขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ในจำนวนนี้ 80 - 90% สามารถหายป่วยเองได้ นอกจากทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้รักษาและป้องกันเบื้องต้นได้ ทั้งนี้สมุนไพรไทยมีหลายชนิดมีสรรพคุณหลายอย่าง ต้านทานโรคไม่ให้เจ็บป่วยได้ ทั้งนี้สมุนไพรที่สามารถต้านเชื้อไวรัสได้ดี เช่น คาวตองหรือพูลคาว ฟ้าทะลายโจร ยาห้ารากหรือจันทลีลา และยาเขียวหอมสำหรับเด็ก
สมุนไพร เหล่านี้หากเริ่มมีอาการเป็นหวัดก็สามารถช่วยได้ ในช่วง 1 - 2 วันแรก แต่หากอาการไม่ดีขึ้นจึงไปพบแพทย์ นอกจากนี้ยังมีผักผลไม้ของไทยที่มีวิตามินซีสูงก็สามารถช่วยป้องกันโรคหวัด ได้ เช่น มะขามป้อม ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สมนุไพรฟ้าทะลายโจรเป็นภูมิปัญญาของแพทย์แผนจีน ปลูกง่ายมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ซึ่งจากงานวิจัยในประเทศยุโรปและสแกนดิเนเวีย พบว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรอันดับต้นๆ ที่ควรแนะนำให้ใช้เพื่อแก้ไข้หวัดใหญ่
มีการทดลองในเด็กจำนวน 100 คน แยกเป็นกลุ่มที่ให้กินฟ้าทะลายโจร ติดต่อเป็นเวลา 3 เดือน และกลุ่มที่ไม่ได้กิน พบว่า คนที่กินฟ้าทะลายโจรไม่ค่อยมีอาการป่วยไข้ด้วยโรคหวัด ต่างกับกลุ่มที่ไม่ได้กิน โดยมีอัตราการป่วยลดลง 2 เท่า ซึ่งกลไกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร คือ ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไปเกาะที่ผนังเซลล์หรือลดลง ยับยั้งโปรตีนในเชื้อไวรัส ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และยังช่วยลดการอักเสบ จึงเป็นสมุนไพรที่เหมาะที่จะนำมาใช้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด ใหญ่ 2009 นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัสซึ่งรองลงมา ได้แก่ ขิง มีสรรพคุณลดจำนวนเชื้อไวรัส มีฤทธิ์อุ่น และกระเทียม จากการศึกษาในห้องแลปพบว่า กระเทียมดองมีสรรพคุณเหมือนวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ จากการทดลองของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สมุนไพรที่มีฤทธิ์แก้ไข้หวัดใหญ่ยังมีน้ำกระเจี๊ยบ ขมิ้นอ้อย มะระ และฟักข้าว ซึ่งมีฤทธิ์ต้านไวรัสเหมือนยาโอเซลทามีเวียร์
ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร รองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบของเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และจากการวิจัยเปรียบเทียบสารสกัดสมุนไพรหลายชนิดพบว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ดีมากในการรักษาโรค อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นยาเย็น จึงไม่ติดต่อใช้เป็นเวลานาน ควรกินเพื่อรักษาอาการป่วยต่อเนื่อง 7 วัน
ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น

สธ.ส่ง 16 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน “โกอินเตอร์”

สธ.เตรียมส่งออก 16 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านจาก 5 จังหวัดภาคกลางที่ประสบภัยน้ำท่วม สู่ตลาดต่างประเทศ เผยเริ่มแรกจะเปิดร้านเฮิร์บ คลับ ที่ชั้น 4 สยามพารากอน จำหน่ายในประเทศในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมร่วมมือกับ สสว.พัฒนาเทคโนโลยีถนอมอายุผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย คงความสด และความหอม เพื่อใช้ในการทดลองวิจัย

บ่ายวันนี้ (30 เม.ย.) ที่ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กทม. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ลือชา วนรัตน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ร่วมกัน แถลงข่าว ความสำเร็จโครงการ “บูรณาการการสร้างอาชีพด้วยการแพทย์แผนไทย และสมุนไพร” และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) ในการทดสอบนำเครื่องทำความเย็นระบบสุญญากาศ (Vacuum Freeze Dryer) ขนาด 50 ลิตร ผลิตจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาสมุนไพร ให้คงความสดทั้งกลิ่น รส ยืนยาวนานขึ้น โดยไม่ต้องแช่เย็น ใช้ในงานวิจัยทดลอง เพื่อพัฒนายาไทยของศูนย์พัฒนายาไทย และสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนให้มากขึ้น เพื่อการพึ่งพาตนเอง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแต่ละปีไทยมีมูลค่าการใช้ ยาแผนปัจจุบันสูงถึง 3 แสนล้านบาท ร้อยละ 80 นำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่มูลค่าการใช้ยาสมุนไพรมีไม่ถึงร้อยละ 1 สาเหตุหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของยาสมุนไพร กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์พัฒนายาไทยที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เพื่อศึกษาวิจัยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันวิจัยในประเทศ พัฒนาคุณภาพสมุนไพร ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง ยา และอาหารเสริมต่างๆ ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมจากกระแสโลกหันมาพึ่งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เนื่องจากเชื่อมั่นในความปลอดภัย จึงเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะเร่งฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้

ล่าสุดนี้ ได้รับรายงานว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านจากชุมชนในระดับมาตรฐานส่งออกได้แล้ว 16 รายการ ได้แก่ โลชั่นกวาวเครือ โลชั่นดอกบัว โลชั่นน้ำมันมะพร้าว ครีมบำรุงทรวงอก แชมพูกระเม็ง แชมพูใบบัว แชมพูข้าวหอมนิล นำยาบ้วนปากสูตรกานพู และสูตรสมุนไพรรวม น้ำมันบำรุงผม น้ำมันหอมระเหยสกัดจากดอกไม้ไทยๆ ใช้ในกิจการสปา ชาสมุนไพร น้ำลูกยอ-กระชายดำ น้ำพริกข่า ถ่านผลไม้ ข้าวเกรียบมอญโบราณ เตรียมส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีแหล่งปลูกวัตถุดิบที่ชุมชนในจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักในปี 2549 กระทรวงสาธารณสุขเตรียมส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ โดยจะประสานนักการตลาดมืออาชีพ เช่น บริษัทยูบีซี ช่วยดำเนินการส่งเสริมการส่งออก ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้จะเปิดร้านเฮิร์บ คลับ(Herb Club)จำหน่ายสินค้าดังกล่าวที่ชั้น 4 ของสยามพารากอนก่อน

ทางด้าน นายแพทย์ลือชา กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯจัดทำโครงการสร้างอาชีพด้วยการแพทย์แผนไทย และสมุนไพร ประกอบด้วย การปลูกสมุนไพรเชิงอินทรีย์ การสอนการนวด การอบรม และถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตสมุนไพร เพื่อช่วยเหลือ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง ตามนโยบายรัฐบาล ดำเนินโครงการ 1 ปี ได้รับงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม เริ่มโครงการตั้งแต่ พฤษภาคม 2550 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก

นายแพทย์ลือชา กล่าวว่า ในการปลูกพืชสมุนไพรเชิงอินทรีย์ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 342 ครอบครัว พื้นที่เพาะปลูกเกือบ 228 ไร่ ปลูกสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง บัวบก บัวหลวง มะแว้งเครือ ขมิ้นชัน กะเพรา โหระพา แฝกหอม ว่านน้ำ ทองพันชั่ง อัญชัน และข่า โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ จากสำนักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการตากสมุนไพร ป้องกันการปนเปื้อน รวมทั้งประสานแหล่งรับซื้อวัตถุดิบระดับอุตสาหกรรม สามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนเป็นกอบเป็นกำ เช่น ที่ชุมชนลำมะลิด อ.วิเศษชัยชาญ ชุมชนป่าโมก มีรายได้จากการขายสมุนไพรเดือนละ 1 ล้านกว่าบาท

ได้อบรม และถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตสมุนไพร สร้างผู้ประกอบการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรจากชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน 16 ผลิตภัณฑ์ มีคุณภาพระดับมาตรฐานการส่งออกต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมด้านการตลาด และช่องทางการจำหน่าย มีผู้เข้าร่วม 170 ครอบครัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะส่งวางจำหน่ายที่สยามพารากอน และจำหน่ายในโรงพยาบาล สถานีอนามัยในพื้นที่ 20 แห่งด้วย สามารถเพิ่มมูลค่าการใช้สมุนไพรในโรงพยาบาลได้จากร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 5

ส่วนการสอนการนวดไทย และสปา หลักสูตร 150 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรม 150 คน สามารถประกอบอาชีพในสถานพยาบาล และสปาต่างๆ มีรายได้เฉลี่ยคนละกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ขณะนี้กรมฯกำลังศึกษาวิจัยยาสมุนไพร 10 ชนิด ได้แก่ มังคุด จันแปดกลีบ บัวบก พริกไทย ปัญจขันธ์ ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม บัวหลวง เห็ดหลินจือ และชุมเห็ดเทศ เพื่อนำมาใช้ในการแพทย์สาธารณสุขต่อไป

ผู้จัดการออนไลน์